วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำ


การไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำ

          คำในภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเมื่อนำไปใช้ในประโยค เพื่อแสดงความสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยค และไม่ต้องเปลี่ยนรูปคำ เพื่อแสดงเพศ พจน์ หรือกาล ในเมื่อคำไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปคำเพื่อบอกเพศ พจน์ หรือกาล  และบอกความสัมพันธ์กับคำอื่นในประโยค  เราสามารถทราบความหมายของคำและความสัมพันธ์กับคำอื่นได้จากบริบท
          บริบท หมายถึง ถ้อยคำที่ปรากฏร่วมกับคำที่เรากำลังพิจารณา หรือสถานการณ์แวดล้อมในขณะที่กล่าว หรือเขียนคำ ๆ นั้น

            วิธีการพิจารณาความหมายของคำจากบริบท
          ๑. พิจารณาจากคำที่ปรากฏร่วมกัน  เช่น น้องสาวถามพี่ว่าเพื่อนพี่คนสูง ๆ สวมแว่นตาคลอดหรือยัง (พี่ย่อมเข้าใจได้ว่าเพื่อนพี่ที่น้องถามถึงเป็นเพื่อนผู้หญิง เพราะคำกริยา คลอดใช้แก่ประธานที่เป็นเพศหญิงเท่านั้น)
          ๒. พิจารณาจากหน้าที่ของคำ เช่น  เด็กดีเรียนดี  (ดี คำแรกขยายคำนาม เด็ก ดี คำที่สอง ขยายกริยา เรียน เพราะคำขยายจะอยู่ข้างหลังคำหลัก หรือคำที่ถูกขยาย)
          ๓. พิจารณาความหมายของคำจากคำที่ปรากฏร่วมกัน เช่น ขัด มีความหมายว่า ติด  ขวางไว้ไม่ให้หลุดออก  เหน็บ  ไม่ทำตาม  ฝ่าฝืน  ขืนไว้  ถูให้เกลี้ยง  ถูให้องใส  ไม่ใคร่จะมี  ฝืดเคือง  ไม่คล่อง  ไม่ปกติ เมื่อ ขัด ปรากฏในประโยค เราก็จะทราบความหมายได้ว่า ขัด ในประโยค นั้น ๆ หมายความว่าอย่างไรโดยพิจารณาความหมายของคำจากคำที่ปรากฏร่วมกัน
ดังนี้      - เขาชอบขัดคำสั่งเจ้านาย  (ขัด หมายถึง ฝ่าฝืน)
           - เธอช่วยเอารองเท้าคู่ดำไปขัดให้หน่อย  (ขัด หมายถึง ถูให้เกลี้ยง ถูให้ผ่องใส)
           - วันนี้ไม่รู้เป็นอย่างไรจะทำอะไรก็ขัดไปหมด  (ขัด หมายถึง ไม่คล่อง)
          ที่เราทราบความหมายของคำว่า ขัด ได้ก็เพราะคำอื่น ๆ ที่ปรากฏร่วมกับคำว่า ขัด ในประโยค หรืออีกนัยหนึ่ง บริบทของคำว่า ขัด นั่นเอง
          ๔.พิจารณาจากเจตนาของผู้พูด เช่น สามีกล่าวให้ภรรยาฟังว่าเลขานุการของเขามีความสามารถในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง  ภรรยาก็กล่าวว่า  แหม เก่งจริงนะ 
          สามีต้องอาศัยบริบท คือ สังเกตสีหน้าท่าทางของภรรยาว่า คำว่า เก่ง ของภรรยาหมายความว่าอย่างไร ภรรยาชมเลขานุการด้วยความจริงใจ หรือพูดประชดประชัน
          เด็กคนหนึ่งพูดว่า คุณแม่ ผู้ฟังรู้ว่า คุณแม่ หมายความว่าอย่างไร แต่จะไม่เข้าใจเลยว่า ผู้พูดพูดคำนั้นเพื่ออะไรนอกจากจะพิจารณาจากบริบท ผู้พูดอาจพูดว่า คุณแม่ เพื่อเตือนให้น้อง ๆ รู้ว่ามารดากำลังเดินมา หรือเพื่อเรียกมารดาของตน หรือเพื่อตอบคำถามของครูว่า ใครมาส่งที่โรงเรียน หรืออื่น ๆ ได้อีกมาก
          หัวหน้าสั่งลูกน้องว่า ช่วยหยิบแฟ้มมาให้ผมหน่อยครับ  เมื่อลูกน้องถือแฟ้มเข้ามา หัวหน้าเห็นเข้า ก็ร้องบอกว่า เอาอีกแฟ้มหนึ่งครับ เมื่อลูกน้องกลับออกไปถือแฟ้มเข้ามา ๒แฟ้ม  หัวหน้าเห็นแต่ไกล ดุว่า ผมให้เอาอีกแฟ้มหนึ่ง
          จะเห็นว่า คำสั่งของหัวหน้ามีความกำกวม อาจหมายความอย่างที่หัวหน้าต้องการ หรืออย่างที่ลูกน้องเข้าใจก็ได้ แต่ถ้าหัวหน้ากล่าวให้มีบริบทว่า เอาอีกแฟ้มหนึ่ง ไม่ใช่แฟ้มนี้ คำพูดก็จะไม่กำกวม


      การไม่เปลี่ยนแปลงรูปคำเป็นองค์ประกอบของลักษณะของภาษาไทย ซึ่งเราสามารถศึกษาลักษณะของภาษาไทยเพิ่มเติมอีกได้จากเว็ปไซต์ >>> คลิกที่นี่นะจ๊ะ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น